สำหรับการรักษาโรคหัวใจบางชนิดนั้น อาจรักษาให้หายขาดได้ บางชนิดทำได้เพียงรักษาให้อาการดีขึ้นแต่อาจไม่หายขาด ทั้งนี้ โรคหัวใจที่มีหลากหลายชนิดนั้นย่อมมีวิธีรักษาแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วมีวิธีรักษา ดังนี้
ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารไขมันต่ำและอาหารโซเดียมต่ำ ออกกำลังกายแบบพอประมาณอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน รวมทั้งเลิกสูบบุหรี่และลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้โรคหัวใจที่เป็นอยู่แย่ลง
ใช้ยารักษา หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยังไม่อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคหัวใจได้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาให้รับประทานเพื่อควบคุมอาการของโรค โดยยาสำหรับโรคหัวใจแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปตามจุดประสงค์ของการรักษาโรคหัวใจนั้น ๆ
ใช้กระบวนการทางแพทย์หรือการผ่าตัดรักษา สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่สามารถรักษาด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นกระบวนการรักษาแบบใดก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจและระดับความรุนแรงของอาการ
ภาวะแทรกซ้อนของ โรคหัวใจ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจที่มีโอกาสเกิดขึ้นตามมา มีดังนี้
- หัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคหัวใจ เมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ โดยภาวะหัวใจล้มเหลวนี้อาจเกิดขึ้นได้จากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจหลาย ๆ โรค ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ หรือโรคลิ้นหัวใจ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหลอดเลือดแดงตีบตัวเป็นสาเหตุของลิ่มเลือดที่มาปิดกั้นการไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดเพื่อไปเลี้ยงหัวใจ และอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจในส่วนนั้น ๆ เสียหายหรือถูกทำลายจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และทำให้เสียชีวิตได้
- โรคหลอดเลือดในสมองขาดเลือด เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองตีบตันลงหรือถูกปิดกั้นจนเลือดไหลไปเลี้ยงสมองน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินและอันตราย เนื่องจากจะส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองเริ่มตายลงได้เพียงในไม่กี่นาทีหลังเกิดภาวะดังกล่าว
- โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง อีกภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณของร่างกาย คือการโป่งพองของผนังหลอดเลือดแดง และหากหลอดเลือดที่มีปัญหานี้แตกออกก็อาจทำให้มีเลือดออกภายในและอันตรายถึงชีวิตได้
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ โรคหลอดเลือดแดงแข็งสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้ตามมา โดยมักส่งผลกระทบถึงแขนขา ทำให้การไหลเวียนของเลือดในแขนขาไม่เพียงพอจนเกิดอาการเจ็บขาขณะเดิน และหากมีอาการตีบหรือตันมากบริเวณแขนหรือขาก็อาจทำให้มีสีคล้ำขึ้นได้
- ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ภาวะสูญเสียการทำงานของหัวใจ การหายใจ และการรู้สึกตัวของหัวใจอย่างเฉียบพลัน โดยเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีความอันตรายมากและจำเป็นต้องรีบรักษาโดยทันที ไม่เช่นนั้นจะส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
การป้องกัน โรคหัวใจ
การป้องกันโรคหัวใจสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้
- ตรวจวัดระดับคลอเรสเตอรอล ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่ควรเริ่มตรวจคลอเรสเตอรอล หลังจากนั้นตรวจเป็นประจำทุก 5 ปี หรือในรายที่มีบุคคลในครอบครัวมีคลอเรสเตอรอลสูงอาจต้องเริ่มตรวจเร็วขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงทางพันธุกรรม หากมีคลอเรสเตอรอลสูง แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจบ่อยยิ่งขึ้น โดยระดับคลอเรสเตอรอลปกติควรต่ำกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจควรมีระดับไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือหากเคยมีอาการของโรคหัวใจหรือเบาหวานเกิดขึ้นแล้วก็ควรควบคุมคลอเรสเตอรอลให้ต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ควบคุมระดับความดันโลหิต ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยทุก 1-2 ปี หรือในรายที่มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติหรือเคยป่วยเป็นโรคหัวใจมาก่อน แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจบ่อยกว่านั้น โดยระดับความดันปกติควรอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท
- ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินพอดี จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้
- เลิกสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดแดง
- หมั่นออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยควบคุมน้ำหนักและโรคเบาหวาน รวมถึงลดระดับคลอเรสเตอรอลและระดับความดันที่สูงลง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ และธัญพืชทั้งหลายล้วนเป็นอาหารที่ดีต่อหัวใจ และมีไขมันอิ่มตัว คลอเรสเตอรอล โซเดียม และน้ำตาลปรุงแต่งต่ำ จึงมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก รวมถึงระดับความดันโลหิตและระดับคลอเรสเตอรอล
- ควบคุมน้ำหนัก ยิ่งมีน้ำหนักตัวเกินพอดีก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจ เพื่อป้องกันจากโรคหัวใจควรมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่เกิน 25 และมีขนาดรอบเอวไม่เกิน 80 เซนติเมตรหากเป็นผู้หญิง และสำหรับผู้ชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร
- รักษาความสะอาด อยู่ให้ห่างจากผู้ป่วยติดเชื้อ ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ล้างมือบ่อย ๆ และหมั่นรักษาความสะอาดของร่างกายและสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ
- รู้วิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าก็ส่งผลให้เสี่ยงโรคหัวใจได้ ผู้ป่วยจึงควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์หากมีอาการหดหู่ เช่น รู้สึกสิ้นหวังหรือหมดความสนใจในการใช้ชีวิต เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างโรคหัวใจรวมถึงโรคอื่น ๆ ตามมา
- รู้จักจัดการกับความเครียด หมั่นผ่อนคลาย ให้มีความเครียดน้อยที่สุด อาจลองฝึกวิธีลดความเครียด เช่น ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกหายใจเข้าลึก ๆ และนั่งสมาธิ
อ่านเพิ่มเติม อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ
ที่มา//www.pobpad.com
การรักษา โรคหัวใจ
Reviewed by Admin
on
10:19
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: